แนวคิด “Circular Economy” เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นมากกว่าการ Reuse ในยุคปัจจุบันรูปแบบของการผลิตและการจัดการทรัพยากร สินค้าและบริการที่มุ่งส่งเสริมการบริโภคในระยะสั้น กำลังนำโลกไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังทำลายวงจรชีวิตของธรรมชาติ และขัดแย้งกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นในระยะยาว ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังนำมาใช้ ซึ่งมีความซับซ้อนและครอบคลุมมากกว่าแค่การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) เพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือนการพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ที่เน้นการผลิต บริโภค และทิ้งไป จึงนำไปสู่การตระหนักและให้ความสำคัญ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะ และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนในอนาคต แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คืออะไร? Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นรูปแบบการผลิตและการบริโภคใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรทุกอย่างอย่างคุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในขณะเดียวกันระบบธรรมชาติก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืนเมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเปรียบเสมือนการเลียนแบบธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยปราศจากขยะ ซึ่งเราสามารถขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้วัตถุดิบ และนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ ด้วยการรีไซเคิลหรือทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจและเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่
แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนด้วย 3 แกนหลัก ดังนี้
- Reduce (การลดการใช้ทรัพยากร) เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง
- Reuse (การใช้ทรัพยากรซ้ำ) ส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์ วัสดุ หรือชิ้นส่วนต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ต้องผลิตใหม่ทั้งหมด
- Recycle (การรีไซเคิล) การแปรรูปวัสดุเหลือใช้หรือขยะ ให้กลับมาเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่
แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน มีประโยชน์อย่างไร?
- ปกป้องสิ่งแวดล้อม: ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และลดการสร้างของเสีย
- เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น: สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนรูปแบบการผลิตและแปรรูป โดยการนำของเสียในบริเวณใกล้เคียงกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
- ขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างรายได้: ช่วยกระตุ้นการพัฒนารูปแบบอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นนวัตกรรมและมีการแข่งขันมากขึ้น นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และการจ้างงานที่มากขึ้น
- เพิ่มมูลค่าของทรัพยากรท้องถิ่น: การนำทรัพยากรในท้องถิ่นกลับมาใช้ซ้ำ อาจทำให้การพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าน้อยลง และเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบฝนท้องถิ่น
- เสริมสร้างและพัฒนาความรู้: พัฒนางานวิจัย ส่งเสริมเครือข่ายนวัตกรรม วางโครงสร้างและเผยแพร่ข้อมูลอย่างถูกต้องและมีหลักการ
การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ จึงไม่ใช่แค่การนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ หรือ Reduce แต่เป็นการออกแบบระบบทั้งหมดตั้งแต่ต้น เริ่มต้นจากการเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คงทน ซ่อมแซมได้ง่าย ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญ แต่ถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประชากรโลกสู่ความยั่งยืน