รู้จักแนวคิด “Sustainability” กลยุทธ์สร้างธุรกิจสู่ความยั่งยืน
โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งปัญหาสภาพอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ มลพิษต่างๆ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากความต้องการของประชากรโลกในปัจจุบัน
แนวคิด Sustainability หรือ ความยั่งยืน จึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนจำนวนมากกำลังให้ความสำคัญ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งแนวคิดความยั่งยืนยังครอบคลุมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมในสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลเสียตามมาอีกมากมาย
แนวคิด Sustainability คืออะไร?
Sustainability หรือ ความยั่งยืน โดยทั่วไปคือความสามารถในการรักษาหรือสนับสนุนกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งให้คงอยู่ตลอดไป แต่ในบริบททางธุรกิจเป็นแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จะมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน ปรับปรุง หรืออนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติหรือทางกายภาพของโลกไม่ให้หมดไป เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นยังคงอยู่ได้ในระยะยาวสำหรับคนรุ่นหลัง สร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การดูแลสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
แนวคิด Sustainability ทำงานอย่างไร?
“ความยั่งยืน” เป็นแนวคิดที่กำหนดให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ จัดทำนโยบายขึ้นมาโดยคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง เพื่อเน้นย้ำถึงผลกระทบในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจระบบนิเวศ และเศรษฐกิจในวงกว้าง
เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้โลกหันมายอมรับแนวทางปฏิบัติและนโยบายและแนวคิดความยั่งยืน หรือ Sustainability โดยหลักๆ ผ่านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3 เสาหลักแห่งความยั่งยืน ผ่านแนวคิด Sustainability มีอะไรบ้าง?
กุญแจสำคัญสู่ความยั่งยืน จากแนวคิด Sustainability คือ การพิจารณาผลกระทบของนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยองค์กรจะคำนึงผลลัพธ์ที่ดีและความยั่งยืนต่อผู้คน โลก และผลกำไรในการตัดสินใจ
- ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืน องค์กรทุกขนาดและธุรกิจทุกประเภท สามารถเริ่มต้นได้จากการประเมินสำนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในองค์กร โดยใช้วิธีที่ค่อนข้างง่ายในการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรีไซเคิลกระดาษ และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ การจัดซื้อวัสดุรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ไฟ LED ช่วยลดการใช้พลังงาน การรณรงค์ให้ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของโลกให้มีความสมดุล โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อากาศ น้ำ ดิน ป่าไม้ และสัตว์ ที่ถูกมนุษย์ใช้มาอย่างต่อเนื่อง
- ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ
ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวมให้เหลือน้อยที่สุด ถือเป็นประโยชน์ต่อบริษัทต่างๆ โดยลดการใช้พลังงาน ของเสีย และต้นทุนอื่นๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าและพนักงานตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน รวมทั้งลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด โดยการส่งเสริมการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การเพิ่มการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ การส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
- ความยั่งยืนด้านสังคม
ความยั่งยืนทางสังคม สามารถพบรูปแบบความยั่งยืนทั้ง 3 เสาหลักที่เชื่อมโยงถึงกัน คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความยั่งยืนทางสังคม มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความสามัคคีและความมั่นคงของคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถบรรลุความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ได้ ภายใต้ทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับทุกคนในชุมชน มีระบบสังคมที่เข้มแข็ง มีสุขภาพดีและมีความสุข เคารพสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้แรงงาน การดูแลสุขภาพ และความเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคมต่อไป
สร้างอนาคตสู่ความยั่งยืน ด้วยแนวคิด Sustainability
การก้าวไปสู่ความยั่งยืนถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของประชากรโลก นอกเหนือจากการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรโลกแล้ว หลักปฏิบัติและการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ยังสามารถผสมผสานเข้ากับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและการดำเนินการในแต่ละวันได้ แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจากภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไร และในระดับบุคคล เพราะการเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้โลกของเราได้